แบงก์แข่ง “รวมหนี้พีโลน” คึกคัก “ทีทีบี” เจาะลูกค้าเพย์โรล 4,000 บริษัท

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

แบงก์แข่ง “รวมหนี้สินเชื่อบุคคล” คึกคัก ดึงลูกค้าผ่อนดี-กดดอกเบี้ยต่ำ “ทีทีบี” กางแผนปี’66 เจาะกลุ่มเพย์โรล 3-4 พันบริษัท แย้มดอกเบี้ยต่ำกว่า 10% หวังลดภาระดอกเบี้ย-ผ่อนหนี้ “ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้ตลาดแข่งขันเดือด หลังแบงก์รัฐโดดร่วมวงประกาศกดดอกเบี้ยลง 5% กดดันแบงก์ต้องหันซบลูกค้ากลุ่มกลาง-บน ฟาก “เกียรตินาคินภัทร” คาดสินเชื่อรวมหนี้ปีนี้โต 22%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์การรวมหนี้-โอนหนี้ผ่านสินเชื่อส่วนบุคคล (refinance) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปัจจุบันที่เพดานกำหนดอยู่ที่ 24-25%

เพื่อช่วยลดภาระหนี้และดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และช่วยลดหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ต้องการให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ภายหลังจากธนาคารเริ่มทำในส่วนของการรวมหนี้กับสินเชื่อมีหลักประกัน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ไปก่อนหน้านี้

“แผนกลยุทธ์การรับโอนหนี้ในปี 2566 จะเน้นเจาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เบื้องต้นจะต่ำกว่า 10% ซึ่งช่วงแรกจะเน้นลูกค้าที่เดินบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (payroll) โดยธนาคารจะทำผ่านความร่วมมือกับบริษัทโดยตรง เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมของลูกค้า”

โดยจะเริ่มบริษัทลูกค้าธนาคารก่อนราว 3,000-4,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นจำนวนลูกค้า payroll ราว 5 แสนราย จำนวนนี้เป็นลูกค้าราชการประมาณ 50% และจากนั้นอีก 2 ปีข้างหน้า ธนาคารจะปูพรมขยายบริษัทเพิ่มอีก 1,500 บริษัท และลูกค้าอีกราว 8 หมื่นราย

“ในปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่ราว 2 หมื่นล้านบาท แต่เรือธงจะเป็นเรื่องของการรีไฟแนนซ์บัตรเป็นหลัก ซึ่งมองว่าจะเป็นทางเดียวที่จะช่วยลูกหนี้ลดภาระหนี้ได้ ซึ่งตอนนี้ยอดหนี้คงค้างสินเชื่อไม่มีหลักประกันทั้งระบบมีกว่า 2 ล้านล้านบาทโปรแกรมที่เราจะทำนี้ในเรื่องของรายได้ไม่เยอะมาก แต่จะช่วยลดภาระลูกค้า จะเน้นกลุ่มที่มีประวัติที่ดีก่อน”

ล่าสุด ธนาคารออกบริการใหม่ การรับโอนยอดหนี้จากบัตรเครดิตของสถาบันการเงินอื่น และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) โดยโอนยอดหนี้บัตรจากที่อื่น มาผ่อนต่อกับบัตรกดเงินสด “ทีทีบี แฟลช” ดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นที่ 13% ต่อปี และคงที่ไปจนจ่ายครบ โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 3 หมื่นบาทขึ้นไป และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี โดยดูย้อนหลัง 12 เดือนหากลูกค้ามีความตั้งใจชำระหนี้ที่ดี

นายฐากรกล่าวว่า โปรแกรมจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามกลุ่มลูกค้า 3 สเต็ป คือ กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 แสนบาทต่อเดือน คิดดอกเบี้ย 13% กลุ่มรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นบาท-1 แสนบาทต่อเดือน คิดดอกเบี้ย 16% ต่อปี และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน คิดดอกเบี้ย 19% ต่อปี ซึ่งจะออกมาทดลอง 2 เดือน ตั้งเป้าลูกค้าให้ความสนใจ สมัครวงเงินราว 4,000-5,000 ล้านบาท หากกระแสตอบรับดีจะพิจารณาการต่อโปรแกรมออกไปอีก

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มการแข่งขันการรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล หรือการรวมหนี้บัตรเครดิตมีทิศทางเติบโตสูง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางและบน จะเห็นแบงก์หันมาเจาะกลุ่มนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน เติบโตค่อนข้างมากจากภาวะหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้ปานกลางและบนยังมีช่องว่างในการขยายตัวได้

ขณะเดียวกัน ก็มีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้ามาเล่นในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล โดยต้องการกดอัตราดอกเบี้ยในระบบลงราว 5% เป็นปัจจัยกดดันผู้เล่นในตลาดให้เกิดการแข่งขันในด้านราคา ทำให้ตลาดหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าที่ประวัติดี โดยคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 15-16% จากเดิมตลาดอาจจะเล่นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยง แต่คิดดอกเบี้ยเต็มเพดาน 24-25%

ปัจจุบันซีไอเอ็มบี ไทยมีโปรแกรมสินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อบุคคล กลุ่มลูกค้าเงินเดือนประจำรายได้ 3 หมื่นบาทขึ้นไป ได้แก่ ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนชำระ 12 เดือน ดอกเบี้ย 11.84% ผ่อน 2 ปี ดอกเบี้ย 13.33% ผ่อน 3 ปี ดอกเบี้ย 16.88% ผ่อน 4 ปี ดอกเบี้ย 18% ผ่อน 5 ปี

และล่าสุดออกดอกเบี้ย 19.99% ผ่อนนาน 6 ปี เนื่องจากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าที่เพิ่งบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และรอเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

“หลังจากเกิดโควิด-19 เราจะเห็นว่ายอดการอนุมัติลดลง 10% และหนี้เอ็นพีแอลสูงขึ้น จากเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และมาเจอแรงกดดันจากแบงก์รัฐ ทำให้การชาร์จดอกเบี้ยตามความเสี่ยงจะลำบาก จึงหันมาเล่นกลุ่มระดับกลางและบนที่มีรูมในการปล่อยสินเชื่อใหม่”

นายภราดร วีเปลี่ยน ผู้อำนวยการฝ่าย segment and products สายงานธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การรวมหนี้สินเชื่อบุคคลในไตรมาส 4/65 ยังขยายต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีนี้จะเติบโตได้ 22% ตามแผนที่ตั้งไว้ ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางดีขึ้นต่ำกว่า 1% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด เป็นผลจากธนาคารเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความผันผวนน้อย เช่น กลุ่มพนักงานประจำ ทำให้คุณภาพสินเชื่อดีกว่าเป้าหมาย

“ธนาคารมีผลิตภัณฑ์การโอนหนี้ หรือ balance transfer ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก เพราะช่วยลูกค้าประหยัดต้นทุนทางการเงิน ผ่อนน้อยลงเหมาะกับสภาพปัจจุบัน ซึ่งธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อกลุ่มนี้เป็น 2 หลัก โดยจะเน้นขยายไปที่ช่องทางออนไลน์ และพันธมิตร (partner) เพื่อส่งผ่านต้นทุนต่ำให้ลูกค้า”