ธปท.หนุนโลกใหม่ “แบงก์ไร้สาขา” เปิดแนวทางกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยใหม่ เพื่อมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. ได้ฉายภาพการดำเนินการเรื่องนี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชน ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 ผ่านทางเว็บไซต์ www.bot.or.th/landscape หรืออีเมล์ finlandscape@bot.or.th

เพิ่มผู้เล่น-เพิ่มการแข่งขัน
ทั้งนี้ ทิศทางสำคัญของ ธปท. มุ่งเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 open ได้แก่ 1) เปิดให้แข่งขัน (open competition) โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) ซึ่งเป็นแบงก์ที่ไม่ต้องมีสาขา ทั้งผู้เล่นเดิม และผู้เล่นใหม่ ทั้งสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) แต่ขอบเขตการประกอบธุรกิจจะเหมือนธุรกิจแบงก์ดั้งเดิมเต็มรูปแบบ และต้องจดทะเบียนจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่หรือบริษัทแม่ในไทย สอดคล้องกับแนวทางของประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังมีแนวคิดยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่ไม่รวมสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมกำหนดเพดานไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของแบงก์ รวมไปถึงการขยายให้น็อนแบงก์ทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (escrow agent) และให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในกระบวนการรู้จักลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)

ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ และผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จะแก้ไขใบอนุญาตขยายการบริการลูกค้าได้กว้างขึ้นและมีวงเงินทำธุรกรรมสูงสุดเพิ่มขึ้น

“บาทดิจิทัล” ทางเลือกชำระเงิน
2) เปิดให้ผู้เล่นต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (open infrastructure) ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น เช่น ระบบการชำระเงิน การใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (retail CBDC) เพื่อเป็นสกุลเงินทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง และต้นทุนต่ำ คาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้งานในวงจำกัด ประมาณปลายปี 2565

และ 3) เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (open data) โดยจะผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้นโยบาย open banking และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาบริการทางการเงิน

แนวทางกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะที่เรื่องการกำกับดูแลนั้น ธปท.จะเพิ่มความยืดหยุ่นและลดภาระในการกำกับดูแลมากขึ้น โดยกำกับให้เท่าทันความเสี่ยงโลกใหม่ ซึ่ง ธปท.มีแนวนโยบายที่สำคัญ คือ ไม่ต้องการเห็นสินทรัพย์ดิจิทัลถูกใช้เป็นสื่อการชำระเงินแทนเงินบาทในวงกว้าง สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ ยุโรป เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริการและระบบเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินและการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน ธปท.จะพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบการชำระเงิน

ไม่ปิดกั้น “สเตเบิลคอยน์”
โดยตัวอย่างของบริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะพิจารณากำกับดูแล อาทิ การออกใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่หนุนหลังด้วยเงินบาท (Thai Baht-backed stablecoin) โดยจะพิจารณากำกับดูแลในด้าน 1.ขอบเขตการประกอบธุรกิจ 2.การสร้างความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออก 3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลส่วนบุคคล

ไม่ห้ามแบงก์ถือครอง-ดูรายกรณี
ทั้งนี้ สำหรับสถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจที่ต้องการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (เช่น blockchain) ที่จะต้องมีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถมาหารือ ธปท.ได้เป็นรายกรณี ธปท.จะพิจารณาบนพื้นฐานของประโยชน์ แนวทางการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยงต่อกลุ่มธุรกิจ และสถาบันการเงิน รวมทั้งการคุ้มครองผู้ฝากเงินและผู้บริโภคที่เหมาะสม

ซึ่งรูปแบบการนำไปใช้ หรือรูปแบบการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องไม่เป็นการสนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง อันกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ทรานส์ฟอร์มแบงก์ต้องใช้เวลา
“ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับภูมิทัศน์การเงินของ ธปท.เป็นการพยายามแก้จุดอ่อนทุกจุด ซึ่งเป็นโจทย์ค่อนข้างใหญ่ ทำให้ต้องมองภาพใหญ่ เพื่อให้บริการทางการเงินมากกว่าเรื่องการเงิน โดยมีการเปิดประตูให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพื่อไปถึงเป้าหมายใหญ่ คือ การให้บริการที่ดีขึ้น ลูกค้าที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยระบบการเงินยังคงมีเสถียรภาพ และปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการถูก disruption ของเทคโนโลยีที่มาเร็วและแรงกว่าคาด

“เชื่อว่าธนาคารแบบดั้งเดิมก็จะยังคงอยู่ แต่จะถูก transform ให้เปลี่ยนไปอยู่รูปแบบอื่น เช่น การให้บริการบนแพลตฟอร์ม หรือบนสมาร์ทโฟนมากขึ้น แต่จะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงมีฐานลูกค้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มคนสูงอายุ คนพื้นที่ห่างไกล หรือกลุ่มเกษตรกร ที่ยังต้องการได้รับบริการจากธนาคารแบบดั้งเดิมอยู่ ส่วนแนวทางเรื่อง virtual bank ก็สอดคล้องกับในหลายประเทศ แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลา”

ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจการเงินในประเทศไทยที่ ธปท.วางลู่วิ่งเอาไว้ในเบื้องต้น หลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องคงต้องร่วมกันให้ความเห็นเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศต่อไป

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance